San Marino, Republic of

สาธารณรัฐซานมารีโน




     สาธารณรัฐซานมารีโน มีชื่อทางการอีกชื่อหนึ่งว่า Most Serene Republicof San Marino เป็นประเทศอิสระที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของยุโรป(รองจากวาติกันและโมนาโก ) และเป็นสาธารณรัฐที่เล็กที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก[รองจากนาอูรู (Nauru) ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เพิ่งได้เอกราชในค.ศ. ๑๙๖๘] ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าซานมารีโนเป็นสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
     ซานมารีโนตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศอิตาลี บริเวณภาคกลางตอนบนห่างจากชายฝั่งทะเลเอเดรียติก (Adriatic) เข้าไปประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ประเทศซานมารีโนมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า โดยมีเส้นทะแยงมุมที่ยาวที่สุดจากมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือถึงมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ยาวเพียง ๑๓ กิโลเมตรพื้นที่ประกอบด้วยภูเขาตีตาโน (Monte Titano) ซึ่งมียอดที่โดดเด่น ๓ยอด แต่ละยอดมีปราสาทตั้งอยู่ด้านบน และเนินเขาเตี้ย ๆ โดยรอบซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านขนาดเล็กที่เรียกว่า castle หรือ castelli ในภาษาอิตาลี อีกไม่เกิน ๑๐ หมู่บ้าน รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๖๑ ตารางกิโลเมตร
     จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเขาตีตาโนมีการพบชิ้นส่วนวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยจักรวรรดิโรมันอยู่บ้าง แต่การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนในบริเวณนี้สันนิษฐานว่าคงเริ่มขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ เมื่อมารีนัส (Marinus)ช่างสกัดหินผู้นับถือคริสต์ศาสนาจากดัลเมเชีย (Dalmatia) [ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย (Croatia) ] พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่งได้อพยพหลบหนีการเข่นฆ่ากวาดล้างชาวคริสเตียนตามพระบัญชาของจักรพรรดิไดโอเคลเชียน (Diocletian ค.ศ. ๒๘๔-๓๐๕)แห่งจักรวรรดิโรมันขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนยอดเขาตีตาโนซึ่งมีความสูงที่สุด (๗๓๘ เมตร)ในบรรดาเขาทั้งหมดในซานมารีโน ต่อมาเขาได้ก่อสร้างหอสวดมนต์ (chapel)ขึ้นบนยอดเขาและดำรงชีวิตแบบผู้อุทิศตนให้ศาสนา ในไม่ช้าก็มีชนชาวคริสต์อพยพหนีมาอยู่ด้วยอีกเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นชุมชนอิสระที่พัฒนาขึ้นเป็นสาธารณรัฐที่ดำรงอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ ชาวซานมารีโนจึงถือว่ามารีนัสหรือเซนต์มารีโนเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ประเทศของตนและจัดพิธีเฉลิมฉลองวันเซนต์มารีโนในวันที่ ๓กันยายนของทุกปี นอกจากนี้ ชาวเมืองยังเชื่อกันว่ากระดูกของเซนต์มารีโนยังคงอยู่ที่ิวหารซานมารีโน (Basilica of San Marino)
     ภูมิประเทศที่เป็นภู เขาสูงชันยากที่จะเข้าโจมตีทำให้ชุมชนซานมารีโนสามารถดำรงความเป็นอิสระ รอดพ้นจากการคุกคามของจักรวรรดิโรมันซึ่งอยู่ในภาวะกำลังจะเสื่อมสลาย และจากการรุกรานของอนารยชนเผ่าต่าง ๆ ในเวลาต่อมาเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ซานมารีโนก็มีฐานะเป็นรัฐ (commune) อิสระที่มีธรรมนูญปกครองประเทศของตนเอง และปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยผู้นำที่เรียกว่า กงสุล (consul) แต่ขณะเดียวกันก็อยู่ในอำนาจควบคุมตามระบอบฟิวดัลของบิชอปแห่งซานลีโอ (San Leo)ด้วย
     ในสมัยกลางดินแดนตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลี ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆที่มีอำนาจปกครองตนเองและผู้ปกครองรัฐทั้งหลายต่างก็พยายามที่จะขยายอิทธิพลและเขตแดนของตนเข้าครอบครองดินแดนใกล้เคียง รัฐที่อยู่ใกล้กับซานมารีโนคือรีมินี(Rimini) เมืองท่าริมทะเลเอเดรียติก เป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งและอิทธิพลสูงผู้ครองรัฐได้แก่ ตระกูลมาลาเตสตา (Malatesta) รีมินีต้องการผนวกซานมารีโนเข้าเป็นดินแดนของตน แต่ชาวซานมารีโนซึ่งหวงแหนความเป็นอิสระได้พยายามต่อต้านอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศซึ่งเป็นเขาสูงชัน นอกจากนี้ ซานมารีโนยังได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตระกูลมอนเตเฟลโตร (Montefeltro)ผู้ครอบครองราชรัฐอูร์บีโน (Urbino) ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับรีมินีและเป็นคู่แข่งของรีมินีด้วย ทำให้สามารถรอดพ้นจากการถูกยึดครองทั้งจากรีมินีและรัฐอื่นๆใน ค.ศ. ๑๓๕๑ ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของ “การคุมขังแห่งบาบิโลน”(The BabylonianCaptivity ค.ศ. ๑๓๐๙-๑๓๗๘) ที่สันตะปาปาทรงสูญสิ้นอำนาจและถูกฝรั่งเศส บังคับให้ไปประทับที่เมืองอาวีญง (Avignon) ในฝรั่งเศส บิชอปเปรุซซี(Peruzzi)ก็ได้พ่ายแพ้ต่อพวกกิเบลลีน (Ghibelline) ที่สนับสนุนจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) และต้องสูญเสียซานลีโอ ชาวซานมารีโนจึงเห็นเป็นโอกาสเสนอให้ที่พำนักแก่บิชอปโดยบิชอปต้องยอมลงนามในเอกสารต่าง ๆที่จะปลดเปลื้องซานมารีโนจากเงื่อนไขต่าง ๆ ของระบอบการปกครองแบบฟิวดัล
     ใน ค.ศ. ๑๔๖๓ สันตะปาปาไพอัสที่ ๒ (Pius II ค.ศ. ๑๔๕๘-๑๔๖๔) ได้ยกหมู่บ้านเซร์ราวัลเล (Serravalle) ให้ซานมารีโนเป็นการตอบแทนที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับตระกูลมาลาเตสตาที่เป็นพวกเกวลฟ์ (Guelf) อริของสันตะปาปานับเป็นการได้ดินแดนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของซานมารีโนเพราะตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันสาธาณรัฐซานมารีโนมีดินแดนเท่าเดิมมาโดยตลอดอย่างไรก็ีด ความเป็นเอกราชของสาธารณรัฐซานมารีโนได้ถูกทำลายลงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. ๑๕๐๓เมื่อเชซาเร บอร์จา (Cesare Borgia) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วาเลนตีโน”(Valentino)ซึ่งทรงอิทธิพลสูงทั้งทางศาสนจักรและทางการเมืองในดินแดนอิตาลี ขณะนั้น สามารถบุกรุกเข้ายึดครองซานมารีโนได้ นับเป็นครั้งแรกที่ซานมารีโนต้องสูญเสียเอกราชแต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากบอร์จาสิ้นชีวิต ชาวเมืองก็สามารถตั้งตนเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซานมารีโนก็ถูกรีมินีและซันตาร์กันเจโล [Santarcangelo (ค.ศ. ๑๕๔๓)] และต่อมาเวรุกกีโอ [Verucchio (ค.ศ. ๑๕๔๙)]โจมตีจนต้องมีการสร้างขยายกำแพงเมืองให้เข้มแข็งขึ้น และต้องขอความคุ้มครองจากราชรัฐอูร์บีโนมากขึ้นจนประดุจเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชรัฐ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อดุ็กแห่งอูร์บีโนคนสุดท้ายไม่มีทายาท ซึ่งตามประเพณีทรัพย์สินทั้งปวงของดุ็กหลังสิ้นพระชนม์จะต้องตกเป็นของศาสนจักร ชาวเมืองซานมารีโนจึงทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังสันตะปาปาเพื่อขอความคุ้มครองโดยตรงจากพระองค์หากราชรัฐอูร์บีโนต้องสลายตัวลง สันตะปาปาทรงให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์ดังนี้ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๓๑ เมื่อดุ็กแห่งอูร์บีโนสิ้นพระชนม์ สันตะปาปาเออร์เบินที่ ๘(Urban VIII ค.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๔) ทรงรักษาคำสัญญาและประกาศรับรองความเป็นอิสระของซานมารีโน ตั้งแต่นั้นมาสาธารณรัฐซานมารีโนก็เป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นนครรัฐอิตาลี ที่มีอำนาจปกครองตนเอง จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อคาร์ดินัล จูีลโออัลเบโรนี(Giulio Alberoni) ซึ่งเป็นผู้แทนองค์สันตะปาปา (legate)ไปปกครองเขตโรมาญญา [Romagna - บริเวณตอนเหนือของอิตาลี ที่รัฐสันตะปาปา(Papal States) ครอบครองอยู่ในขณะนั้น] ได้ใช้กำลังทหารผนวกซานมารีโนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสันตะปาปาในปลาย ค.ศ. ๑๗๓๙ นับเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ ๒ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ถูก “ต่างชาติ”เข้ายึดครอง ในเวลาไม่ช้าชาวเมืองก็ร่วมกันขัดขืนอย่างสงบและลอบส่งสารถึงสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ ๑๒ (Clement XIIค.ศ. ๑๗๓๐-๑๗๔๐) เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมดังนั้นในต้น ค.ศ. ๑๗๔๐ สันตะปาปาจึงทรงยอมรับในสิทธิและอำนาจของรัฐอิสระของซานมารีโน และทำให้ซานมารีโนได้รับเอกราชกลับคืนมาอีก
     เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เข้ารุกรานดินแดนตอนเหนือของอิตาลี ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เขาชื่นชมในความเป็นสาธารณรัฐเสรีนิยมและให้การยอมรับเอกราชของซานมารีโน ทั้งยังเสนอจะให้ดินแดนเพิ่ม แต่ชาวซานมารีโนปฏิเสธไม่ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าความเป็นรัฐที่ยากจนและมีดินแดนเพียงน้อยนิดนี้เองที่ทำให้ซานมารีโนสามารถรอดพ้นจากการยึดครองของรัฐเพื่อนบ้านที่ยิ่งใหญ่และหิวกระหายมาได้ หลังสงครามนโปเลียน (NapoleonicWars) ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)ได้ประกาศรับรองความเป็นรัฐอิสระของซานมารีโน ในขณะที่สาธารณรัฐเก่าแก่คือลุกโก (Lucco) เจโนวา (Genova) และเวนิส (Venice) ถูกยุบ
     นอกจากความรักหวงแหนและภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของประเทศแล้ว ชาวซานมารีโนยังมีความคิดว่าเนื่องจากประเทศซานมารีโนเกิดขึ้นมาจากการเป็นที่ีล้ภัยของผู้ก่อตั้ง ฉะนั้นซานมารีโนก็ควรเอื้อเฟืôอให้ที่พักพิงแก่ผู้ีล้ภัยทั้งหลายด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพยายามรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) ซานมารีโนจึงเป็นที่ีล้ภัยการเมืองของนักปฏิวัติจำนวนมากรวมทั้งจู เซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)วีรบุรุษของชาวอิตาลี ผู้นำคนสำคัญของกองกำลังอาสาสมัครเชิ้ตแดงในขบวนการรวมชาติอิตาลี อานีตา (Anita)ภรรยาและผู้ติดตามจำนวน ๑,๐๐๐ คนซึ่งหลบหนีเข้ามาอยู่ในซานมารีโนใน ค.ศ. ๑๘๔๙แต่ีอก ๒ ปีต่อมากองกำลังร่วมของออสเตรีย กับรัฐสันตะปาปาก็เคลื่อนตัวเข้าซานมารีโนเพื่อจับกุมกลุ่มอดีตสมาชิกของสภาโรมัน (Roman Assembly) เหล่านี้ที่มีส่วนร่วมในการเข้ายึดรัฐสันตะปาปาและปกครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848) ต่อมาหลังจากที่อิตาลี สามารถรวมชาติได้สำเร็จ ค.ศ. ๑๘๖๑ ซานมารีโนซึ่งเคยให้ที่พักและช่วยพาการีบัลดีและภรรยาตลอดจนเจ้าหน้าที่หลบหนีจากการจับกุม รวมทั้งให้ยารักษาโรคอาหาร และเงินก็ได้รับการตอบแทนโดยได้รับการยกเว้นจากการผนวกเข้ากับราชอาณาจักรอิตาลี ใน ค.ศ. ๑๘๖๒ ซานมารีโนยังขยายขอบเขตความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรอิตาลี ใหม่โดยทำสัญญาพันธไมตรีต่อกัน รัฐบาลอิตาลี รับรองความเป็นเอกราชของซานมารีโนและสัญญาจะให้การปกป้องคุ้มครองด้วย นอกจากนี้ทั้ง ๒ ประเทศยังตกลงรวมตัวกันในสหภาพศุลกากรและให้ซานมารีโนใช้หน่วยเงินของอิตาลี สนธิสัญญาพันธไมตรีดังกล่าวนี้ยังได้รับการแก้ไขเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ได้เกิดการปฏิวัติอย่างสงบในซานมารีโน โดยมีการนำเอาระบบการเลือกตั้งสมาชิก Grand Council กลับมาใช้ีอก โดยสมาชิกต้องมาจากพวกอาเรนโก (Arengo) ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ เท่านั้น แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ชายที่บรรลุนิติภาวะทุกคน ส่วนพรรคการเมืองก็นิยมจัดตั้งตามพรรคการเมืองในอิตาลี โดยในระยะแรกพรรคสังคมนิยมและพรรคปอปปูิลสต์ (Populist) หรือพรรคคาทอลิกมีบทบาทสำคัญ แต่ต่อมาพรรคฟาสซิสต์ (Fascist) ท้องถิ่นก็เข้ามามีอำนาจพร้อม ๆกับการขึ้นมามีอำนาจของเบนีโต มุสโสลีนี (Beneto Mussolini) ผู้นำและเผด็จการทหารอิตาลี แต่เมื่อมุสโสลีนีสิ้นอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ซานมารีโนก็กลายเป็นประเทศที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์เช่นเดียวกับอิตาลี ด้วย
     ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวซานมารีโนได้ลงคะแนนเสียงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวอิตาลี นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครชาวซานมารีโนจำนวน๕๐ คนรบกับกองกำลังออสเตรีย และมีการจัดตั้งหน่วยพยาบาลขึ้นในแนวหน้าเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารอิตาลี อีกด้วย ส่วนในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซานมารีโนประกาศนโยบายเป็นกลางและเป็นสถานที่ีล้ภัยให้แก่คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรปกว่า๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ชาวซานมารีโนจำนวนหนึ่งได้อาสาสมัครเข้ารบในกองทัพอิตาลี เมื่อรัฐบาลฟาสซิสต์ิส้นอำนาจ กลุ่มทหารอาสาสมัครดังกล่าวก็ถูกซานมารีโนจองจำด้วยข้อหากระทำการผิดต่อกฎหมายโบราณที่ห้ามชาวซานมารีโนรับใช้ในกองทัพต่างชาติแต่ก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง ซานมารีโนก็ถูกกองทัพนาซีรุกรานและกองกำลังฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลซานมารีโนได้เรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่สงครามดำเนินอยู่นั้น ชาวซานมารีโนก็ได้แสดงน้ำใจแก่ผู้อพยพลี้ภัยในประเทศอย่างมาก โดยการแบ่งปันที่พักอาศัยอาหาร และไวน์
     ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๔๕ ชาวซานมารีโนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกที่อนุรักษ์ระเบียบที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยกลางและนิยมขนบประเพณีและพิธีการต่าง ๆ ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ชาวโลกด้วยการเลือกพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เข้าไปเป็นเสียงข้างมากในสภา นับเป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปนอกค่ายคอมมิวนิสต์ที่บริหารปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกับอิตาลี ที่ในขณะนั้นดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พรรคนี้ครองเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลผสมต่อมาเป็นเวลา ๑๒ ปี จนถึง ค.ศ. ๑๙๕๗ และได้ร่วมในคณะรัฐบาลผสมอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๘-๑๙๘๖อย่างไรก็ดีพรรคคอมมิวนิสต์ก็มิได้ดำเนิน“การปฏิรูป” ซานมารีโนในแนวทางสังคมนิยม นอกจากดำเนินการให้บริการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่าแก่ประชาชนทุกคน จัดทำโครงการก่อสร้างสาธารณะเพื่อลดจำนวนผู้ว่างงาน และแบ่งผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ ๖๓ ให้แก่เกษตรกรที่รับจ้างเจ้าของที่เพาะปลูก (มากกว่าในอิตาลี ที่แบ่งให้เพียงร้อยละ ๕๓) ในด้านการต่างประเทศ ซานมารีโนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่างประเทศเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.๑๙๐๘ โดยเป็นสมาชิกสถาบันการเกษตรระหว่างชาติ (International Institute ofAgriculture) ส่วนการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญในปัจจุบันคือการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ(United Nations) และสมาชิกสภายุโรป (Council ofEurope) ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และต่อมาเป็นสมาชิกการประชุมเพื่อความร่วมมือกันในยุโรป(Conference on Security and Cooperation in Europe - CSCE) และอื่น ๆ
     สาธารณรัฐซานมารีโนปกครองด้วยระบอบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญซึ่งพัฒนามาจากธรรมนูญปกครองประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ รัฐสภาของซานมารีโน ซึ่งเรียกว่า Grand and General Council ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๖๐ คน โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปทุก ๕ ปี สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา รัฐสภามีอำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติและการบริหาร ในด้านอำนาจบริหารนั้นรัฐสภาจะเลือกสมาชิกสภาจำนวน ๒ คนขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะรัฐบาล และผู้นำประเทศซึ่งเรียกว่า capitani reggenti (captain regent) ผู้ได้รับเลือกไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง และอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๖ เดือน โดยเข้ารับตำแหน่งในวันที่๑ เมษายน และ ๑ ตุลาคมของปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจะไม่สามารถรับตำแหน่งได้อีกจนกว่าจะครบ ๓ ปี นอกจากนี้ รัฐสภายังเป็นผู้เลือกผู้ทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีซึ่งเรียกว่าสภาแห่งรัฐ (Congress of State) จากสมาชิกสภาจำนวน ๑๐ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารงานต่าง ๆ ของประเทศ โดยแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบงานคนละกระทรวง
     ซานมารีโนนับเป็นประเทศที่ให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางมาก นอกจากประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งรวมไปถึงการให้บริการแก่คนชราแล้ว รัฐยังมีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยและงานให้แก่ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนในด้านการศึกษานั้น นักเรียนจะได้เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงอายุ ๑๔ ปี และยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือ สำหรับนักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างประเทศอีกด้วย
     สาธารณรัฐซานมารีโนมีกองทัพขนาดเล็กของตนเอง แต่ไม่มีการเกณฑ์ทหารทหารในกองทัพสวมเครื่องแบบที่สวยงามสะดุดตา ประกอบด้วย ชุดสีน้ำเงินหมวกประดับขนนกสีน้ำเงินกับขาว ถือปืนคาบศิลาและสะพายกระบี่แบบโบราณนอกจากนี้ ยังมีกองทหารองครักษ์ที่ทำหน้าที่อารักขาและเป็นกองเกียรติยศของผู้นำประเทศ ทหารกองนี้สวมเครื่องแบบที่สะดุดตาไม่แพ้กัน อันประกอบด้วยกางเกงสีแดง เสื้อนอกสีเขียว หมวกประดับขนนกสีแดงกับขาวและพกปืนพกโบราณ
     ในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากซานมารีโนไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุ เหมืองหินบนเขาตีตาโนที่เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับงานก่อสร้างและงานฝีมือได้หมดสิ้นไปนานแล้ว เศรษฐกิจของประเทศจึงขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ก็มีการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น การผลิตวัสดุก่อสร้าง สีเครื่องเรือน สิ่งทอ เสื้อผ้าเครื่องถ้วยชาม เครื่องสำอาง ไวน์ และผลิตภัณฑ์อาหาร ประชากรส่วนใหญ่ยังนิยมทำการเกษตรซึ่งมีทั้งการปลูกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลีข้าวโพด การทำไร่องุ่นและสวนผลไม้ การเลี้ยงโคนม ิกจการที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไม่น้อยคือการผลิตดวงตราไปรษณียากรและเหรียญกษาปณ์ ซึ่งซานมารีโนผลิตเงินเหรียญของตนเองแม้จะใช้หน่วยเงินตามของอิตาลี เป็นเงินตราหลัก ทั้งดวงตราไปรษณียากรและเงินเหรียญของซานมารีโนเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวและนักสะสมทั่วโลกนอกจากนี้ ซานมารีโนยังได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลอิตาลี อีกจำนวนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ให้อิตาลี ผูกขาดการผลิตบุหรี่และสินค้าอื่นอีกบางรายการ
     ปัจจุบันชาวซานมารีโนซึ่งเรียกว่า Sammarinesi จำนวนหนึ่งได้ออกไปอาศัยอยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี แต่ทุกคนยังคงภาคภูมิใจในความเป็นชาวซานมารีโนที่รักอิสรภาพและความเป็นเอกราชของชาติสมบัติชิ้นหนึ่งที่ชาวซานมารีโนเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์รวมกับงานศิลปะและสัญลักษณ์ของชาติือ่น ๆ ได้แก่ จดหมายตอบขอบคุณจากประธานาธิบดีเอบราแฮม ลินคอล์น(Abraham Lincoln) แห่งสหรัฐอเมริกาที่ตอบขอบคุณการแต่งตั้งให้เป็นเขาประชาชนกิตติมศักดิ์ ของซานมารีโน ซึ่งความตอนหนึ่งกล่าวว่า “Although yourdominion is small, nevertheless your State is one of the most honouredthroughout history...”อันสะท้อนความรู้สึกของชาวซานมารีโนได้เป็นอย่างดี.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐซานมารีโน (Republic of San Marino)
เมืองหลวง
ซานมารีโน (San Marino)
เมืองสำคัญ
-
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐอิสระ (independent republic)
ประมุขของประเทศ
(Captain Regent)
เนื้อที่
๖๑.๒ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ตั้งอยู่ในประเทศอิตาลีบนภูเขาตีตาโน ห่างจากเมืองรีมีนีไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๑๘ กิโลเมตร
จำนวนประชากร
๒๙,๖๑๕ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ซัมมารีน และอิตาลี
ภาษา
อิตาลี
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เพ็ญแข คุณาเจริญ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป